ตรวจเลือด หามะเร็งได้จริงหรือ?

ในทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินกันว่าการตรวจสุขภาพประจำปีของโปรแกรมต่างๆ

จะมีการตรวจเลือดหามะเร็งกันเป็นประจำ และนอกจากนี้ บางครั้ง เวลาที่มีความผิดปกติ เช่น เลือดออก หรือมีก้อน และสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะถามแพทย์ที่ดูแลว่าตรวจเลือดดูว่าเป็นมะเร็งได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าจะสะดวก หรือ เจ็บตัวน้อยที่สุด … ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถตรวจเลือดหามะเร็งได้หรือไม่?

ตรวจเลือดหามะเร็ง เขาตรวจหาอะไรกัน

การตรวจเลือดชนิดต่างๆ เพื่อหามะเร็ง เช่น ตรวจ CEA, PSA, CA 15-3, Alpha-fetoprotein (AFP) ฯลฯ ที่เราได้ยินจากโปรแกรมการตรวจเลือดต่างๆนั้น เป็นการตรวจหา Tumor marker (สารบ่งชี้มะเร็ง)

Tumor markers (สารบ่งชี้มะเร็ง) คืออะไร

ในภาวะที่เซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง กลไกควบคุมการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์จะเสียไป ทำให้เซลล์นั้นๆแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมภายในเซลล์ เป็นผลให้มีการสร้างสารแอนติเจน หรือสาร macromolecule อื่นๆ เช่น ฮอร์โมน หรือ เอ็นซัมย์ ที่ไม่เหมือนเซลล์ปกติ แอนติเจนเหล่านี้นอกจากจะพบอยู่ภายในเซลล์และบนผิวของเซลล์แล้ว เซลล์มะเร็งยังสามารถปลดปล่อยสารดังกล่าวออกสู่กระแสเลือด หรือสารคัดหลั่ง (biological fluid) อื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งสารต่างๆ ที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเหล่านี้ รวมเรียกว่าเป็น tumor marker หรือ สารบ่งชี้มะเร็ง สารเหล่านี้สามารถตรวจหาได้จากเลือด หรือ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำในช่องท้อง (ascetic fluid) น้ำในช่องปอด (pleural fluid)ของผู้ป่วยรายนั้นๆ ด้วยการใช้วิธีการทางห้องปฏิบัติการที่มีความไวสูงพอ

สุขภาพ-หามะเร็ง

โดยทั่วไป แอนติเจนหรือสารที่สร้างโดยเซลล์มะเร็งนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. Tumor-specific antigen (TSA): แอนติเจนเฉพาะกับมะเร็ง พบเฉพาะในเซลล์มะเร็งเท่านั้น ไม่พบในเซลล์ปกติ แต่มักเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการตอบสนองและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ตรวจหาทางห้องปฏิบัติการได้ยากมาก

2. Tumor-associated antigen (TAA): แอนติเจนที่เกี่ยวกับมะเร็ง อาจพบได้ทั้งในเซลล์มะเร็ง และเซลล์ปกติในบางระยะของพัฒนาการ ซึ่งในคนทั่วไป ก็อาจพบได้ เนื่องจากสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ที่มีการตรวจในทางคลินิกในปัจจุบัน เป็นสารในกลุ่ม tumor-associated antigen ทั้งสิ้น ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องทราบ คือ Tumor marker ไม่มีความจำเพาะต่อมะเร็ง

ประเด็นควรรู้เกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker)

อาจตรวจพบระดับ tumor marker ในปริมาณต่ำๆ ได้ในคนปกติ และ/หรือ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบ และ/หรือ มีพยาธิสภาพอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign disease) ของอวัยวะที่เป็นแหล่งสร้าง tumor marker นั้นๆ

การตรวจพบระดับ tumor marker สูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน แต่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมไปกับผลการตรวจทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ การตรวจซ้ำเป็นระยะ (follow up) เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อศึกษาดูว่าระดับของ tumor marker ดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นเช่นไร ถ้าตรวจซ้ำแล้วพบว่าระดับ tumor marker สูงขึ้นเป็นลำดับ จะเป็นเครื่องชี้แนะให้สงสัยโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วระดับลดลง น่าจะบ่งชี้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง

ระดับ tumor marker ที่ตรวจวัดด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และ/หรือ ใช้วิธีการเดียวกันแต่ใช้ชุดน้ำยาตรวจ (diagnostic test kit) ต่างกัน อาจให้ค่าที่มีความแตกต่างกันได้ ดังนั้น การติดตามผลการทดสอบ (follow up) ควรพิจารณาจากผลการตรวจของห้องปฏิบัติการเดียวกันทุกครั้ง

ประโยชน์ของสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ในทางคลินิก

1. ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยต้องพิจารณาร่วมไปกับประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางการแพทย์อื่นๆ เช่น X-ray, ultrasoundเป็นต้น

การตรวจพบระดับ tumor maker สูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งได้ แต่หากตรวจติดตามระดับของ tumor marker เป็นระยะๆ ต่อไป และพบว่าระดับ tumor marker มีค่าสูงขึ้นเป็นลำดับ แสดงว่าน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง

แต่ถึงแม้ตรวจ tumor marker แล้วพบว่าระดับอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ได้ยืนยันแน่นอนว่าบุคคลผู้นั้นไม่ได้เป็นมะเร็ง เนื่องจากระดับ tumor marker มักจะสัมพันธ์กับขนาดหรือระยะของโรคมะเร็ง ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก จึงยังอาจพบระดับ tumor marker ปกติได้

2. ช่วยตรวจกรอง (screening) โรคมะเร็งบางชนิดในคนที่มีความเสี่ยงสูง ในปัจจุบันมี tumor marker เพียง 2 ชนิดเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้ตรวจกรองโรคมะเร็งในคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดสูงได้ ได้แก่ Alpha-fetoprotein (AFP) ในคนที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis), hepatitis B carrier, ตับแข็ง (cirrhosis) เพื่อตรวจกรองภาวะมะเร็งตับ และ Prostate specific antigen (PSA) ในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาปัสสาวะลำบาก เพื่อตรวจกรองภาวะมะเร็งต่อมลูกหมาก

3. ใช้ติดตามผลการรักษาและการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง เป็นประโยชน์ที่นิยมใช้มากที่สุดของ tumor marker ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยมะเร็งที่ตรวจพบว่ามีระดับtumor marker สูงตั้งแต่เมื่อแรกวินิจฉัย หลังจากได้รับการรักษาแล้ว ระดับ tumor marker ที่เคยสูงอยู่เดิม ควรค่อยๆ ลดลงมาจนถึงระดับปกติ แต่ถ้าระดับ tumor marker ที่เคยลดลงหลังการรักษา กลับมีค่าสูงขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง แสดงว่าน่าจะมีการกลับเป็นใหม่ของโรคมะเร็ง โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับ tumor marker ที่ขึ้นสูงภายหลังการรักษา มักตรวจพบได้ก่อนที่จะตรวจพบอาการแสดงทางคลินิก เฉลี่ยประมาณ 2-6 เดือน

4. พยากรณ์โรค เนื่องจากระดับ tumor marker จะแปรผันตามระยะของโรคมะเร็ง ดังนั้นถ้าตรวจพบระดับ tumor marker สูงมาก แสดงว่ามะเร็งน่าจะมีขนาดใหญ่ หรือมีการแพร่กระจายแล้ว

5. อาจนำไปใช้ช่วยในการเลือกวิธีการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การตรวจหา estrogen receptor และ progesterone receptor ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อเลือกที่จะให้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน เป็นต้น

สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ตรวจกันบ่อยๆ ได้แก่

Alpha-fetoprotein (AFP)

Carcinoembryonic antigen (CEA)

Prostate specific antigen (PSA)

CA 125

CA 19-9

CA 15-3

Beta-human chorionic gonadotropin (beta-HCG)

Neuron-specific enolase (NSE)

สรุป

การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือ tumor marker จากเลือด เป็นการตรวจหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจมีความแม่นยำไม่สูงมากนัก แต่สามารถช่วยแพทย์ได้ในการตรวจหามะเร็งบางกรณี หากพบมีการเปลี่ยนแปลงระดับต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรืออาจใช้ช่วยติดตามการรักษา หรือบอกการพยากรณ์โรคได้ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดของ tumor marker ชนิดต่างๆ ได้จากบทความ สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม : กรมการแพทย์ แนะ วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

กรมการแพทย์ แนะ วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพของเรา เนื่องด้วย PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น-PM2.5

ลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือเป็นอาทิตย์ สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก จะส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพของเราโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับฝุ่น PM2.5
ฝุ่น PM2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมและเดินทางไปยังหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หากร่างกายได้รับฝุ่นนี้เป็นเวลานานจนเกิดการสะสม จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยผู้ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง เป็นต้น และกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

  • สวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า เพื่อป้องกันฝุ่น
  • เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง
    หมั่นทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน
  • เลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาวะปกติ ไม่ก่อควันดำ
  • หากพบอาการผิดปกติของร่างกาย ให้รีบพบแพทย์

หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และที่สำคัญ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษทางอากาศเป็นประจำ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม

อัพเดทข่าว เพิ่มเติม : 4 อันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากดื่ม “กาแฟ” มากเกินไป

4 อันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากดื่ม “กาแฟ” มากเกินไป

กาแฟ หากดื่มอย่างเหมาะสมก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าดื่มมากเกินไป อาจให้โทษต่อร่างกายได้

อาจกระทบการทำงานของร่างกายทั้ง 4 ระบบ นอกจากนี้ควรดื่มกาแฟดำ และควรดื่มน้ำเปล่าตาม เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและการตกค้างของคาเฟอีนในร่างกาย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คนวัยทำงานนิยมดื่มกาแฟ เพื่อให้ตื่นตัว สดชื่น ลดความง่วง เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ในช่วงเช้าหรือระหว่างวัน ทำให้มีพฤติกรรมเคยชินในการดื่มกาแฟ จึงอาจเผลอดื่มมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับคาเฟอีนจากแหล่งอาหารอื่นที่ไม่ใช่กาแฟร่วมด้วย เช่น น้ำชา น้ำอัดลม โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง

สุขภาพ

ดื่มกาแฟแค่ไหน ถึงไม่อันตราย

ผู้ใหญ่สามารถบริโภคคาเฟอีนได้ โดยควรรับในปริมาณที่เหมาะสมจากเครื่องดื่ม และอาหารต่างๆ แนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับในแต่ละวันไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟ 3-4 แก้ว

อันตรายจากการดื่มกาแฟมากเกินไป

หากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปหรือเรียกว่าการบริโภคคาเฟอีนเกินขนาด (Caffeine Overdose) จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้

  1. ระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้มือสั่น นอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวล ปวดศีรษะ บางครั้งอาจทำให้ชักได้
  2. ระบบทางเดินอาหาร จะเพิ่มการหลั่งของกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้ปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ จึงควรหลีกเลี่ยงกาแฟทุกชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
  3. ระบบการไหลเวียนโลหิต คาเฟอีนกระตุ้นหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต อาจเพิ่มความดันโลหิตชั่วคราว โดยเฉพาะในผู้ที่ปกติไม่บริโภคคาเฟอีน กลุ่มที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่เดิม ภาวะความดันโลหิตสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
  4. ระบบทางเดินปัสสาวะ คาเฟอีนลดการดูดน้ำกลับ ตอนผ่านเข้าไปในไต ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น กระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อยขึ้น แคลเซียมซึ่งเป็นสารก่อนิ่วชนิดหนึ่ง จะถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอาจก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย
ดื่มกาแฟอย่างไร ถึงจะดีต่อสุขภาพ
  1. ควรเลือกดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่นมและน้ำตาล เลือกสั่งแบบหวานน้อย หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ที่ปรากฏบนซองหรือบรรจุภัณฑ์สินค้า
  2. หากต้องการจำกัดไขมันหรือน้ำตาล อาจเลือกเป็นสูตรแคลอรีต่ำ หรือสูตรไม่มีน้ำตาล จะช่วยให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
  3. เมื่อดื่มกาแฟเย็นแล้วควรลดอาหารหวาน มัน และของทอด ในมื้ออาหารหลักลง
  4. ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียม จากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น
  5. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
  6. ดื่มน้ำเปล่าสะอาด 8-10 แก้วต่อวัน
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  8. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน